วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

เข้าห้องครัว ไปดูศิลปะ !? กับ ขาบ สตูดิโอ โดย สุทธิพงษ์ สุริยะ www.karbstyle.com




เข้าห้องครัว ไปดูศิลปะ !? กับ  ขาบ สตูดิโอ
       ART EYE VIEW --หนึ่งในผู้ที่รู้จักนำ “ศิลปะ” มาช่วยแต่งเนื้อแต่งตัวให้อาหาร “จานอร่อย” กลายเป็นอาหาร “จานสวย” ประทับใจผู้รับประทาน
      
       เราคงไม่ลืมที่จะนึกถึง Food Stylist คนที่ชื่อ ขาบ - สุทธิพงษ์ สุริยะ แห่ง ขาบ สตูดิโอ (KARB STUDIO) ที่สีส้มจะลอยเข้ามาอยู่ในความทรงจำเราด้วยทุกครั้ง เมื่อนึกเขาและสตูดิโอของเขา
      
       ขาบบอกถึงเหตุผลที่เลือกใช้สีส้ม มาเป็นสัญลักษณ์ให้กับ “ขาบ สตูดิโอ” องค์กรที่รับสร้างภาพลักษณ์และแบรนด์ดิ้งให้กับธุรกิจอาหารด้วยมาตรฐานสากล อย่างครบวงจร มากว่า 25 ปี ว่า
      
       
“อย่างแรกคือ สีส้มเป็นสีที่มีพลังในเรื่องของการกระตุ้นให้คนอยากทานอาหารได้ดีที่สุด และโดยส่วนตัวผมชอบ ฟักทอง แต่ให้นึกถึงสีของ ฟักทองฮัลโลวีนนะ มันถึงจะเป็นส้ม แบบที่ผมชอบ นอกจากนี้ผมยังเอาฟักทองมาเป็นโลโก้ของบริษัทด้วย เนื่องจากฟักทอง เป็นทั้งผักและผลไม้ สามารถทำอาหารได้ทั้งคาวและหวาน มีคุณค่าทางโภชนาการสูง”
เข้าห้องครัว ไปดูศิลปะ !? กับ  ขาบ สตูดิโอ
       ด้วยความเป็นคนทำอาหารที่ชอบศิลปะ ทำให้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอาหารที่เขาสนใจ ไม่ถูกปล่อยผ่าน ทั้งเรื่องของ “ความดูดีและมีมาตรฐาน”
      
       หลายๆโอกาส เขาจึงต้องแปลงกายเพื่อไปทำหน้าที่หลายๆอย่างในเวลาเดียว ไม่ว่าจะเป็น คนทำอาหาร ,นักออกแบบอาหาร ,ช่างถ่ายภาพอาหาร ,นักเขียน,คนทำหนังสือ ฯลฯ
      
       “ก่อนจะมาสนใจอย่างอื่น ผมเป็นคนทำอาหารมาก่อน เป็นคนทำอาหารที่ชอบศิลปะ ก็เลยกลายมาเป็น Food Stylist ดังนั้นผมจึงเป็น Food Stylist ที่เข้าใจเรื่องของการปรุงอาหาร
      
       เมื่อเป็นคนทำอาหารที่ต้อง เข้าใจเรื่องของการทำอาหารให้อร่อย , เป็น Food Stylist ต้องเข้าใจเรื่องการทำให้อาหารดูดีน่ารับประทานแล้ว ต่อมาผมก็เริ่มมาสนใจเรื่องของอาหารผ่านเลนส์ นั่นคือ สนใจถ่ายภาพอาหาร
      
       อาหารในจานที่เรามองผ่านสาย ตาว่าสวยมาก จริงๆแล้วอาจจะไม่สวยเลยก็ได้เมื่อเรามองผ่านเลนส์ ดังนั้นเมื่อเราถ่ายภาพอาหาร เราต้องรู้และเข้าใจว่า ความสวยของอาหารที่มองผ่านเลนส์เป็นอย่างไร”
      
       การได้ชิมอาหารผ่านภาพถ่ายก่อนจะได้ชิมอาหารจากจานจริงเป็นศิลปะอย่างไร ขาบได้อธิบายว่า
      
       “ก่อนที่เราจะได้ชิมอาหารจาก จานจริง อาหารจะถูกชิมผ่านสายตาจากรูปภาพต่างๆ ก่อน มันก็เลยกลายมาเป็นเรื่องของศิลปะ ที่เมนูอาหารจากสิ่งพิมพ์ทั้งหลาย มันต้องทำให้คนที่เห็นรู้สึกว่า อาหารนั้นมันคือศิลปะ และทำให้เขาอยากจะชิม

      
       เมื่อเราคนถ่ายภาพอาหารอยาก ทำให้คนเขาอยากชิม อยากรับประทาน และรู้สึกตื่นตาตื่นใจ เราก็ต้องดึงเรื่องของศิลปะมาใช้ โดยการดึงสีสันของตัววัตถุดิบในอาหารมาเป็นตัวเดินภาพอันดับแรก
      
       ต่อด้วยเรื่องของรูปทรงและ เส้นสายของวัตถุดิบในอาหาร ที่มีทั้งความเว้า ความโค้ง ก็เป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องคำนึงถึง และสิ่งที่สาม คือ ภาชนะที่นำมาใส่อาหาร จากนั้นเมื่อนำทุกอย่างมาจัดวาง เราจึงต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น เพื่อไม่ให้ภาพที่เราถ่ายออกมา มันไม่ดูหนักหรือเบาเกินไป”

เข้าห้องครัว ไปดูศิลปะ !? กับ  ขาบ สตูดิโอ
       ความสนใจของขาบไม่ได้หยุดอยู่แค่การ ถ่ายภาพอาหารให้ออกมาเป็นที่น่าพอใจ เพื่อให้อาหารเกิดความสวยแบบครบวงจร และเป็นประโยชน์กับผู้คน ภาพอาหารของเขาจึงถูกนำมาวางเคียงข้างเนื้อหา และกลายเป็นหนังสือเล่มสวยที่ให้ความรู้แก่ผู้คนในเรื่องของอาหารการกินหลาย เล่ม
      
       หนังสือเล่มแรกซึ่งร่วมทำกับ สำนักพิมพ์บ้านพระอาทิตย์ และ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ อาหารในราชสำนักของหลวงพระบาง ด้วยความน่าสนใจของเนื้อหา ตลอดจนความใส่ใจในเรื่องของการออกแบบ นำพาชื่อเสียงมาสู่เขาโดยไม่ตั้งตัว
       
      
       “ผมเอาเนื้อหามาจาก เพีย สิงห์ ซึ่งเป็นห้องเครื่องในราชสำนักหลวงพระบาง ทำอาหารถวายเจ้านายองค์สุดท้ายของลาว (พระบาทสมเด็จพระเจ้าเชษฐาขัติยวงศา พระมหาศรีสว่างวัฒนา หรือ ที่คนไทยคุ้นเคยในพระนาม เจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา)ก่อน ห้องเครื่องคนนี้เสียชีวิตได้ทำหนังสือเอาไว้เล่มหนึ่ง และหนังสือเล่มนี้ได้เป็นแรงบันดาลใจให้ผมอยากเอามาขยายความและต่อยอดใน เรื่องของดีไซน์ เพราะต้นฉบับเดิมจะมีเฉพาะตัวหนังสือกับภาพวาดเท่านั้น
      
       ตัวผมซึ่งเป็น Food Stylist ก็อยากจะแปลงเมนูจากที่เป็นตัวหนังสือหรือภาพวาดอย่างเดียวให้กลายมาเป็น เมนูที่มีภาพถ่ายสวยๆ ต้องบอกว่าเป็นหนังสือเล่มหนึ่งที่มีเนื้อหาที่ดีมาก และเป็นประวัติศาสตร์ เพราะในเล่มมีเรื่องของการท่องเที่ยวหลวงพระบาง ซึ่งเป็นเมืองมรดกโลก รวมอยู่ด้วย และเนื้อหาอีกอย่างที่โดดเด่นก็คือ ผมได้ไปสัมภาษณ์เรื่องอาหารการกิน จากคนที่เคยทำอาหารและใช้ชีวิตอยู่ในวังมาก่อน”

เข้าห้องครัว ไปดูศิลปะ !? กับ  ขาบ สตูดิโอ
       ปีแรกที่หนังสือเล่มนี้ซึ่งมีการ พิมพ์แยกเล่มเป็น 2 ภาษา วางจำหน่ายที่หลวงพระบาง หลังจากนั้นฝรั่งจากหลายชาติที่ไปเที่ยวหลวงพระบาง และซื้อกลับบ้านไป ได้อีเมลมาบอกเขา ถึงความประทับใจที่มีต่อหนังสือ แนะนำให้ส่งไปประกวดเวทีนั้นเวทีนี้ พร้อมส่งที่อยู่มาให้เสร็จสรรพ
      
       “ตอนทำหนังสือเล่มนี้ ผมไม่ได้มองเรื่องของรางวัล แต่ผมมองเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ เรื่องของประวัติศาสตร์ ผมอยากทำหนังสือเชิงสารคดีอาหาร ผมจะไม่ทำหนังสือตำราอาหาร เพราะผมต้องการทิ้งประวัติศาสตร์เอาไว้ให้คนรุ่นหลัง
      
       ปีแรกที่มีอีเมลมา ผมไม่ได้สนใจ พอปีที่สองมีอีเมลเดิมส่งมาอีก ผมคิดว่า เขาคงอยากให้ผมส่งไปประกวดจริงๆ ผมก็เลยส่งไปดู เลยได้รับรางวัลมาสองเด้ง(หัวเราะ) คือ หนังสือรางวัลท่องเที่ยวดีเด่นของโลก และ หนังสืออาหารการกินดีเด่นของโลก จากหนังสือชื่อ   Food and Travel : Laos
      
       ผมจึงรู้สึกว่า ผมมาถูกทางแล้ว หลังจากนั้น หนังสือหลายๆเล่มของผม เมื่อทำเสร็จ ผมจะส่งประกวดทุกครั้งเลย ปัจจุบันนี้ได้มาทั้งหมด 12 รางวัลในระดับโลก และ หนังสือชื่อ Good Idea Kitchen เคยได้รับรางวัลจากเวที Gourmand World CookBook Awards และปัจจุบันผมยังเป็นคนไทยคนแรกและคนเดียว ที่ได้รับรางวัลนี้”

เข้าห้องครัว ไปดูศิลปะ !? กับ  ขาบ สตูดิโอ
       ประสบการณ์ กว่า 25 ปี ของผู้นำอาหารเดินทางมาบรรจบกับศิลปะ , ย้ำเตือนให้หลายๆคนได้เข้าใจว่า ศิลปะ กับหลายเรื่องในชีวิต ไม่ควรแยกออกจากกัน และยังเป็นหนึ่งฟันเฟืองที่ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในโลกของการแข่งขัน
      
       เวิร์คชอป "ฟู้ดสไตลิสต์เชิงพาณิชย์ศิลป์สำหรับตลาดสากล" ในนาม ขาบ สตูดิโอ จึงเกิดขึ้น เพื่อมอบองค์ความรู้ในเรื่องศิลปะที่เกี่ยวกับอาหาร ให้ผู้ร่วมเวิร์คชอปได้นำไปใช้จริง
      
       ก่อนที่เวิร์คชอปครั้งต่อๆไปจะตามมา ขาบ สตูดิโอ ได้เริ่มนับหนึ่ง ด้วยการทำเวิร์คชอปให้กับ ภัตตาคารอาหารจีน “ฮองมิน”
      
       “เป็นร้านอาหารที่มีราคาใกล้ เคียงกับโรงแรม 5 ดาว เลย แต่จะโดดเด่นกว่าตรงที่หน้าตาของอาหารจะสวยกว่า ผมไปทำเวิร์คชอปให้ 3 วัน ก่อนที่จะมีการเปิดร้านใหม่ ณ พรอเมนาด ใกล้ แฟชั่นไอส์แลนด์ ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้”
      
       ขาบ บอกว่า คน 2 กลุ่มที่ไม่ควรมองผ่านเวิร์คชอปอันนี้ ที่เขามีความตั้งใจอยากนำเสนอก็คือ
      
       “กลุ่มแรก คือคนที่ทำงานอยู่ในสายอาหาร มาได้หมดเลย ตั้งแต่ผู้ประกอบการ เจ้าของธุรกิจ และคนที่ต้องการสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าของตัวเอง ด้วยศิลปะ
      
       และกลุ่มที่สอง คือ คนที่เรียนศิลปะ คนที่อยู่ในวงการดีไซเนอร์ คนที่ออกแบบรรจุภัณฑ์ ออกแบบสิ่งพิมพ์ ซึ่งคนเหล่านี้ เมื่อเรียนจบจำนวนหนึ่งจะต้องไหลไปสู่ Production House หรือ บริษัทอาหาร เวลาคนพวกนี้ออกแบบอาหารเขาจะไม่เข้าใจธรรมชาติของวัตถุดิบอาหาร ดังนั้นคนพวกนี้จึงต้องมาเรียนรู้ เพื่อจะได้รู้ว่า จะมีวิธีดึงธรรมชาติของอาหารออกมาได้อย่างไร
      
       ดังนั้นทั้งผู้ประกอบธุรกิจ อาหารจึงต้องมาเรียนรู้ว่า ความสวยของศิลปะอาหารคืออะไร ที่ผ่านมาเขาอาจจะรู้ แต่ขาด Know-how ถูกไหมฮะ กับอีกคนที่รู้จักศิลปะแต่ไม่รู้ว่าธรรมชาติของอาหารคืออะไร”
      
  เครดิต : http://www.manager.co.th/CelebOnline/ViewNews.aspx?NewsID=9550000033533

       

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น