ในโลกสมัยใหม่ “อาหารชั้นดี” ใช่อยู่ที่รสชาติติดปลายลิ้นแต่เพียงอย่างเดียว หากแต่ “หน้าตาที่ดูดี” ก็กำลังกลายเป็นสาระสำคัญอันดับต้นๆ เช่นกัน ถึงตอนนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่อาหารจานเดิมของคุณจะถูกจับแต่งหน้าทาปากเสียใหม่ จนดูละม้ายคล้ายงานศิลปะกินได้ก็ไม่ปาน ซึ่งในเมื่อโลกเรามีสิ่งที่เรียกว่า “ศิลปะ” แล้ว ก็ย่อมต้องมีบุคคลที่เรียกกันว่า “ศิลปิน” เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงาน ถูกต้องมั้ยครับ? และผู้ที่บรรจงสร้างสรรค์จัดวางอาหารจานสวยนั้นจะเป็นใครไปเสียไม่ได้ นอกจาก “ฟู้ด สไตลิสต์” (Food Stylist) ศิลปินที่มีโต๊ะอาหารเป็นแกลเลอรี่แสดงงานนั่นเอง
แม้จะฟังดูเหมือนเป็นอาชีพใหม่สำหรับเมืองไทย แต่ถ้ามองกันให้ลึกซึ้งแล้ว คนไทยเป็น “ฟู้ด สไตลิสต์” กันมาตั้งแต่สมัยโบร่ำโบราณ ดังจะเห็นได้จากบรรดาอาหารคาวหวานที่ประดับด้วยผักผลไม้แกะสลักฝีมือปราณีต ขนมทำจากแป้งประดิบประดอยปั้นเป็นรูปต่างๆ ทั้งยังเติมสีและกลิ่นจากธรรมชาติ โรยหน้าด้วยเครื่องเคราสารพัด จนแทบจะไม่รู้กันเลยทีเดียวว่าในจานนั้นมีอะไรบ้างที่กินได้และอะไรบ้างที่ กินไม่ได้
อย่างไรก็ดี เมื่อกาลเวลาผ่านไป “ฟู้ดพรีเซนเทชั่น” (Food Presentation) แบบไทยๆ ก็คอยแต่จะเลือนหาย เหลือค่าไว้แค่เป็นศิลปะ “โชว์แขก” ตามโรงแรมหรู ประกอบกับความนิยมใน “อาหารฟิวชั่น” ของคนกรุงที่เพิ่มสูงขึ้น ก็ทำให้ศิลปะการจัดวางอาหารแบบตะวันตกเริ่มเป็นที่แพร่หลาย จนกระทั่งกลายเป็นธุรกิจที่คนไทยทำกันแบบเป็นจริงเป็นจัง
KARB STUDIO คือ หนึ่งในฟู้ดสไตลิสต์ชั้นนำของเมืองไทยที่ทำ “สไตลิ่ง” ให้กับอาหารแบบครบวงจร ด้วยความที่คลุกคลีอยู่กับอาหารและวัตถุดิบในการปรุงอาหารมาตั้งแต่เด็ก บวกกับความหลงใหลในเสน่ห์และเรื่องราวของการทำอาหาร ทำให้ “คุณขาบ” (ศิษย์รักของครูโต ม.ล.จิราธร จิรประวัติ ศิลปินและฟู้ดสไตลิสต์ชั้นนำของเมืองไทย) มีผลงานการทำสไตลิ่งอาหารทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังมากมาย นับตั้งแต่การเป็นพิธีกรรายการอาหาร ที่ปรึกษาบริษัทอาหาร ครูสอนทำอาหาร ดีไซเนอร์วางคอนเซ็ปท์แพ็คเกจจิ้งอาหาร ฟู้ดคอลัมนิสต์ ฯลฯ แถมยังมีคิชเช่นสตูดิโอของตัวเองที่รวมเอาอุปกรณ์การทำครัวและพร็อพสำหรับ ฟู้ดสไตลิ่งไว้ให้เช่าอีกด้วย
หลักในการ ทำงานของคุณขาบอยู่ที่ความเข้าใจในเรื่องวัตถุดิบอย่างล้ำลึก รวมทั้งยังนำเอา commercial art มาปรับใช้กับการตกแต่งหน้าตาอาหารเพื่อให้ดูสวยงาม โดยเน้นที่กระบวนการคิดอย่างมีระบบ สร้างสไตล์และรสนิยมที่เป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนมีความตั้งใจที่จะสร้างผลงานให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล |
ในต่างประเทศนั้น นอกจาก “ฟู้ด สไตลิสต์” จะมีหน้าที่ออกแบบตกแต่งเมนูเด็ดตามร้านอาหารแล้ว เอกลักษณ์เฉพาะตัวของแต่ละคนยังสามารถต่อยอดออกไป “นอกร้าน” ได้ด้วย เช่น ไปปรากฏตามสื่ออื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำสไตลิ่งและจัดหาพร็อพในฉากภาพยนตร์ รายการโทรทัศน์ สิ่งพิมพ์โฆษณา อินเตอร์เน็ต ฯลฯ ไปจนกระทั่งถึงการออกแบบแพคเกจจิ้ง การเขียนตำรา และการสอนทำอาหารอีกด้วย
หากเรา ศึกษาประวัติของฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดังหลายๆ คน เราจะพบว่า พวกเขาเหล่านั้นไม่ได้จบการศึกษาทางด้านการออกแบบ หรือแม้กระทั่งด้านอาหารโดยตรงเลย เส้นทางอาชีพสายนี้มักเกิดขึ้นจากความรักในการทำอาหารและความหลงใหลในการ ตกแต่งอาหารเป็นพื้นฐาน ก่อนที่จะศึกษาเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ตรงอย่างเข้มข้น |
นอกเหนือจากทักษะและฝีมือด้านการตกแต่งแล้ว “การสร้างสรรค์เมนูอาหาร” ก็ถือเป็นอีกหน้าที่หนึ่งของฟู้ดสไตลิสต์ด้วย ยกตัวอย่างเช่นที่คุณเอกรินทร์ อยู่สุขสมบูรณ์ ฟู้ดสไตลิสต์ชั้นแนวหน้าของไทย (และผู้บริหารร้าน Extra Virgin Bistro and Wine Bar) ได้สรรสร้างเมนูอาหารชื่อแปลกอย่าง “Chiangmai to Phuket” ซึ่งได้รวมเอาของดีแต่ละภาค นับตั้งแต่ไส้อั่ว แหนมปลากราย ส้มตำที่ใช้สาหร่ายแทนปู ไปจนถึงไก่ทอดหาดใหญ่เข้าไว้ด้วยกัน สร้างสีสันสดใสในจานให้เกิด “มู้ด” ของปาร์ตี้แสนสนุก อะไรอย่างนี้เป็นต้น ซึ่งแน่นอนว่า ผลงานที่กลั่นจากความคิดสร้างสรรค์เหล่านี้ นอกจากจะเพิ่มสุนทรียภาพในช่วงเวลาอาหารแล้ว มันยังช่วย “สร้างคุณค่าใหม่” ให้กับอาหารธรรมดาๆ จานหนึ่งได้มหาศาลด้วย
เคล็ดลับของอาชีพ “ฟู้ดสไตลิสต์”
1. ฟู้ดสไตลิสต์ที่ดีควรจะรักในการทำอาหาร เข้าใจธรรมชาติของวัตถุดิบและวิธีการปรุงที่แตกต่างกัน มีความคิดสร้างสรรค์ พิถีพิถันใส่ใจในรายละเอียด และรักการเรียนรู้สิ่งใหม่อยู่ตลอดเวลา
2. ฟู้ดสไตลิสต์มีบทบาทในธุรกิจสร้างสรรค์ในหลายระดับ นับตั้งแต่การวางคอนเซ็ปท์อาหาร, การออกแบบตกแต่งจานอาหาร, การจัดหาพร็อพที่เกี่ยวข้องให้กับร้านอาหารในฉากภาพยนตร์และภาพยนตร์โฆษณา, การนำเสนอเมนูอาหารในสื่อสิ่งพิมพ์, การออกแบบแพ็คเกจจิ้ง, การเขียนคอลัมน์ และอื่นๆ อีกมากมายที่มีเรื่องอาหารเป็นส่วนประกอบ
เครดิต : เรื่อง ชัชรพล เพ็ญโฉม
http://www.tcdcconnect.com/content/detail.php?ID=810&sphrase_id=1663283
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น