วันจันทร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2557

เส้นทางชีวิต ความสุขที่เลือกแล้ว ฟู้ดสไตลิสต์ ความสุขของคนจัดแสงแต่งสีให้อาหาร โดย สุทธิพงษ์ สุริยะ www.karbstyle.com


เส้นทางชีวิต  ความสุขที่เลือกแล้ว
ฟู้ดสไตลิสต์  ความสุขของคนจัดแสงแต่งสีให้อาหาร

เส้นทางชีวิต  ความสุขที่เลือกแล้ว

เส้นทางชีวิต  ความสุขที่เลือกแล้ว
ฟู้ดสไตลิสต์  ความสุขของคนจัดแสงแต่งสีให้อาหาร
          สีประจำตัวของเขาคือสีส้ม  ไม่ใช่เพราะเขาเกิดวันพฤหัสฯ  แต่เป็นเพราะเขาชอบสีส้มของฟักทองซึ่งถือเป็นตัวแทนของสินค้าภาคเกษตร   เมืองไทยเป็นเมืองเกษตร  และเขาก็เติบโตมาจากครอบครัวที่ทำธุรกิจการค้าสินค้าพืชไร่ในจังหวัดหนองคาย  ทุกวันนี้เขาจึงมีความสุขกับอาชีพ  ฟู้ดสไตลิสต์  ซึ่งนำชื่อเสียงมาสู่เขาไม่น้อยในนามของ 
ขาบสไตล์
          “ฟักทองเป็นพืชผลที่มีราคาถูก  เอาไปทำอาหารได้ทั้งของคาวและของหวาน  แล้วก็มีสารอาหารที่มีประโยชน์สูง  เป็นเรื่องธรรมดามาก  ถูกและดีก็มีดีไซน์ได้  คนอาจจะคาดไม่ถึง  แล้วมันก็เป็นตัวแทนของสินค้าเกษตร  มันมีสีส้ม  สีส้มก็เป็นสีที่ทรงพลัง”  คุณสุทธิพงษ์  สุริยะ  หรือ คุณขาบ  ฟู้ดสไตลิสต์ชื่อดังผู้มีผลงานมากมายทั้งในสื่อต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นรายการทีวี  วิทยุ  นิตยสาร  ฯลฯ  ทั้งยังมีผลงานที่เป็นเครื่องการันตีคุณภาพที้งในประเทศและต่างประเทศ  เรียกได้ว่าเป็นกูรูทางด้านการสร้างแบรนด์ให้กับสินค้าอาหารมาแล้วมากมาย 
          ในออฟฟิศของ บริษัท ขาบสไตล์ จำกัด  ซึ่งเป็นสตูดิโอด้านการสร้างภาพลักษณ์และแบรนดิ้งให้กับธุรกิจประเภทอาหาร  ก็ถูกประดับประดาด้วยสีส้มอย่างงดงามและลงตัว  ไม่เพียงเป็นความชอบส่วนตัวเท่านั้น  แต่นี่ยังเป็นการสื่อสารอะไรบางอย่าง  “มันเป็นเรื่องของแบรนดิ้ง  การที่ผมมาทำสตูดิโอนี้  ผมจะต้องมองในเรื่องหลักของการสื่อสารการตลาด  ว่าจะทำยังไงที่องค์กรเล็ก ๆ ของเราจะผงาดในท่ามกลางเอเยนซี่ได้  ซึ่งต้องบอกว่าเอเยนซี่เขามีอิทธิพลสูงมาก  แต่ขณะเดียวกัน ตอนนี้มีลูกค้าจากเอเยนซี่ที่ไหลมาหาผม  และลูกค้าบางรายที่ไม่อยากไปหาเอเยนซี่เพราะกระบวนการคิดมันคนละอย่างกัน  กระบวนการคิดของผมคือจะลงไปที่ตัวตนของวัตถุดิบเสมอ  วิเคราะห์  แตกประเด็น  เสร็จแล้วค่อยจัดการเดินไป  มันมีระบบจัดการของมันอยู่”
 คุณขาบบอกว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพที่อินเทรนด์  เพราะสังคมไทยเป็นเมืองเกษตรกรรม  ผู้คนให้ความสนใจ  แต่ที่อาจจะไม่ค่อยมีคนรู้จักนักเพราะอาจจะมองว่าเป็นสิ่งที่เป็นนามธรรม  “โดยแท้จริงแล้ววิชาชีพนี้ในต่างประเทศเขามีมานานแล้ว  แล้วก็เป็นอาชีพเดียวที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรได้อย่างยั่งยืน  เพราะสินค้าเกษตรบ้านเรามันก็ดีอยู่แล้ว  แต่กระบวนการที่ทำให้มันมีมูลค่าเพิ่มเนี่ย  ก็ต้องมีคนนำเสนอภาพลักษณ์  ในการนำเสนอภาพลักษณ์ไม่ใช่พวกเอเยนซี่  เพราะว่าทักษะของเขามันยังไม่ใช่  ที่ใช่ก็คือต้องเป็นคนที่สนใจเรื่องอาหาร  ถึงจะทำให้อาหารเป็นเรื่องดีไซน์ได้” 
          “ ผมอยู่กับวิถีธรรมชาติของสินค้าพืชไร่การเกษตร  ฉะนั้นผมก็จะรู้จักมันดี  กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต  ขณะเดียวกันตัวผมเองก็ชอบการทำอาหารด้วย  เป็นคนชอบศิลปะ  ก็เลยเป็นคนที่เข้าใจในเรื่องของอาหาร  ผมไม่มองว่าอาหารสวยอยู่บนจาน  แต่มองความสวยของอาหารคือมาจากจุดเริ่มต้น  อาหารถ้าสวยมาจากจุดเริ่มต้นนี่แปลว่ามันเป็นความสวยแบบเบ็ดเสร็จแล้ว  ไม่ต้องทำอะไรมาก” 
          เขาบอกว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเรื่องของจิตวิทยา  บวกกับการวิเคราะห์ทางการตลาด  “บทสรุปของธุรกิจอาหารคือ  นวัตกรรม + ดีไซน์  คุณจะต้องมี  2  คำนี้  และในคำว่าดีไซน์  คนก็จะมีร้อยแปดดีไซน์  เพราะแต่ละคนจะมีดีไซน์ที่ไม่เหมือนกัน  แต่ดีไซน์ของอาหาร  จากประสบการณ์ 15 ปีของผม  มันมีคำตอบเดียวคือ  simply the best  คือเรียบง่ายแต่งดงาม  ถ้าคุณจะไปให้ถึงแก่นของดีไซน์  คุณต้องเอาคำนี้มาจัดการ  ฉะนั้นถ้าคุณยังมีนวัตกรรมดี  แต่คุณยังมีดีไซน์ที่มั่วไปหมดเลย  ก็สอบตก  แก่นของดีไซน์คือ  เรียบง่ายแต่งดงาม  ถ้าคุณจะอยู่ในวงการอาหารแล้วอยากประสบความสำเร็จ  คุณต้องยึดถือคำนี้เลย”
         “ผมมองว่าการที่ผมได้รู้จักตัวตน  มันก็เป็นอะไรที่พิเศษแล้วที่เอาความชอบมาทำเป็นอาชีพได้  เพราะมีหลายคนที่ชอบแบบหนึ่ง  แต่ไปทำงานอีกแบบหนึ่ง  มันเป็นอะไรที่ขัดแย้งกัน  แต่ของผมยิ่งทำก็ยิ่งพัฒนา  มันกลั่น  มันตกผลึก  มันสั่งสมมา 15 ปี แล้วมันเป็นสิ่งที่ทำอย่างเดียวด้วย  มันเลยยิ่งกลั่นๆๆๆ  และยิ่งบริสุทธ์  งานแต่ละชิ้นมันเลยกระแทกอย่างแรง  นี่คือในแง่ส่วนตัวนะ  แต่ในแง่ส่วนรวมที่ผมมองก็คือ  ผมคิดว่าเมืองไทยยังขาดเรื่องของดีไซน์  ทุกวันนี้เมืองไทยสู้ฝรั่งได้เรื่องเดียวคืออาหารรสชาติอร่อยเท่านั้น  แต่เรายังขาดอยู่เรื่องเดียวคือการจัดการเรื่องดีไซน์  ถ้าสินค้าไทยทุกตัวที่เป็นสินค้าเกษตร  โยนดีไซน์ใส่เข้าไป  ผมว่ามันจะเป็นการขุดรากถอนโคนของประเทศไทยเลย”
          เขาจึงอยากเห็นภาครัฐทำอะไรสักอย่างที่จะเป็นการช่วยส่งเสริมสินค้าเกษตรของไทยให้มีดีไซน์  สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและแข่งขันในเวทีระดับโลกได้มากยิ่งขึ้น  “คือตอนนี้รัฐบาลไปส่งเสริมเรื่องดีไซน์ในธุรกิจอุตสาหกรรมอย่างอื่นมากกว่า  เช่น  เฟอร์นิเจอร์  แฟชั่น  เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม  แต่จริงๆ แล้วถ้ารัฐบาล  หรือองค์กรที่สามารถให้ความสำคัญกับหน่วยงานการเกษตร  แล้วตั้งศูนย์ดีไซน์เกษตรเซ็นเตอร์   อย่างเนี้ยใช่เลย  มันจะไปตอบโจทย์คุณค่าของสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าเพิ่ม  ถ้ามีองค์กรนี้เกิดขึ้น  ผมว่ามันใช่  ทุกวันนี้ไม่มีองค์กรนี้  ศูนย์สร้างสรรค์สินค้าเกษตร  ยังไม่มี  มันควรจะมี”


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น